วันอังคารที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2557

โรคกุหลาบ



โรคกุหลาบจะทำให้กุหลาบของคุณไม่สมบูรณ์ ใบไหม้เหลือง  ดอกไม่งาม  ดอกเน่าเสียหรือแม้แต่ต้นอาจตายได้  โรคกุหลาบจึงนับเป็นศัตรูที่สำคัญของกุหลาบเพราะบางครั้งกว่าจะทราบ กุหลาบของคุณก็เกิดโรคไปแล้ว  สิ่งที่จะช่วยกุหลาบของคุณได้ก็คือการป้องกันมากกว่าการรักษา
 โรคกุหลาบมีมากมายได้แก่
โรคราสนิม (Rust) 
       เกิดจากเชื้อราชนิดหนึ่งซึ่งแพร่กระจายได้ดีในอากาศชื้น โรคนี้มักเกิดในฤดูฝนและเกิดกับใบแก่ โดยที่ใต้ใบจะมีผงสีส้ม คล้ายผงแป้ง ส่วนด้านบนของใบจะมีจุดสีเหลืองหรือสีน้ำตาลเกิดขึ้น 
วิธีการป้องกันและรักษา  เด็ดใบที่เกิดโรคทิ้งรวมทั้งใบที่ร่วงตามพื้นดินทิ้งด้วย  หลีกเลี่ยงการรดน้ำที่ใบเพราะเชื้อราจะแพร่กระจายได้ดีในน้ำ  หากจำเป็นอาจฉีดพ่นด้วยยาที่มีส่วนประกอบของกำมะถัน


โรคราแป้ง(Powderly mildew)
         เกิดจากเชื้อราSphaerotheca pannosa ที่สปอร์ของราแพร่กระจายมาตามลม เชื้อนี้จะระบาดได้ดีโดยเฉพาะในอากาศที่กลางคืนหนาวและชื้นส่วนกลางวันอากาศอุ่นและแห้ง โดยมากมักเกิดกับใบย่อยหรือยอดอ่อน ที่ใบจะมีลักษณะเป็นผงสีขาวคล้ายแป้งเคลือบอยู่บนผิวใบทั้งด้านบนและใต้ใบ ทำให้ใบหงิกงอ ถ้าเป็นมากใบอาจเปลี่ยนเป็นสีม่วงหรือดำและร่วง ถ้าเป็นที่ดอกตูมดอกจะไม่บาน
วิธีการป้องกันและรักษา  กำจัดใบที่เกิดโรครวมทั้งใบที่ร่วงตามพื้นดินทิ้ง ฉีดพ่นด้วยยาเบนเลท  คาราเทนหรือกำมะถันผง  สำหรับกำมะถันผงควรฉีดพ่นในช่วงเช้าหรือเย็น ถ้าใช้ในวันที่อากาศร้อนจัดจะทำให้ใบไหม้
 




โรคใบจุดดำ (Black spot) 
       โรคนี้เกิดขึ้นตลอดทั้งปีแต่จะเกิดรุนแรงมากในช่วงฤดูฝน หรือฤดูหนาวที่มีน้ำค้างมาก สปอร์ของราที่อยู่บนใบแก่ที่ร่วงตามพื้นดินหรือที่อยู่ตามง่ามกิ่งจะปลิวไปติดใบที่ไม่เป็นโรค เมื่อได้รับความชื้นติดต่อกันประมาณ 6-8 ชั่วโมง สปอร์จะงอกเข้าไปในต้น หลังจากนั้นประมาณ 1 สัปดาห์  อาการก็จะ
ปรากฎขึ้น  ใบกุหลาบที่เกิดโรคจะเป็นจุดดำบริเวณผิวด้านบนของใบ ขนาดจุดประมาณ 1/4 นิ้ว ในแต่ละจุดจะเห็นเส้นใยเป็นขุย  เมื่อเป็นมากใบจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองและร่วง  กุหลาบจะชงักการเติบโต
วิธีการป้องกันและรักษา   กำจัดใบหรือต้นที่เกิดโรคโดยนำไปเผาไฟทิ้ง หลีกเลี่ยงการรดน้ำที่เปียกต้นและใบเนื่องจากใบที่เปียกจะเป็นที่เพาะเชื้อราได้อย่างดี  ควรฉีดพ่นยากำจัดเชื้อราที่ใบและต้นเพื่อเป็นการป้องกันก่อนเกิดโรคเพราะเมื่อเกิดโรคแล้วจะไม่มียารักษาได้


โรคแอนแทรกโนส (Anthracnose)
         
  เกิดจากเชื้อราชนิดหนึ่งที่สามารถแพร่กระจายได้ดีในน้ำคล้ายกับโรคของใบจุดดำ  พบในช่วงที่มีฝนตกชุก  โดยจะมีจุดสีแดงหรือสีน้ำตาลเป็นวงเล็กๆ บนผิวใบด้านบน วงนี้จะค่อยๆเปลี่ยนเป็นสีขาวขอบม่วง เมื่อเป็นมากใบจะเหลืองและร่วง
วิธีการป้องกันและรักษา  ใช้วิธีเดียวกันกับการป้องกันรักษาโรคใบจุดดำ


โรคราสีเทา (Botrytis) 
            ดอกตูมจะเป็นจุดสีน้ำตาล และลุกลามขยายใหญ่  ทำให้ดอกเน่าแห้ง
 วิธีการป้องกันและรักษา    เพื่อไม่ให้ดอกกุหลาบถูกฝนควรปลูกกุหลาบในโรงเรือนพลาสติก  กำจัดใบหรือต้นที่เกิดโรค    ฉีดพ่นสารเคมีด้านข้างและด้านบนดอกด้วย คอปเปอร์ ไฮดร๊อกไซด์ แมนโคเซ็บ หรือ คอปเปอร์ อ๊อกซี่คลอไรด์ เพื่อไม่ให้เชื้อราแพร่กระจาย


โรคหนามดำ  เกิดกับหนามของกิ่งอ่อนและลุกลามตามกิ่งก้าน  ทำให้ก้านเหี่ยวแห้งในที่สุดต้นจะตาย โดยแผลจะมีลักษณะเป็นรูปวงรี


โรคราน้ำค้าง(Downey mildew)
           เชื้อสาเหตุ เชื้อรา Peronospora spasa ลักษณะการทำลาย อาการจะแสดงบน ใบ กิ่ง
คอดอก กลีบเลี้ยง และกลีบดอก การเข้าทำลายจะจำกัดที่ส่วนอ่อน หรือส่วนยอด  โดยจะเกิดรอยปื้นสีดำที่ส่วนบนของใบ รอยดำนี้จะต่างจากโรคใบจุดดำ เพราะจะมีลักษณะค่อนข้างเป็นสี่เหลี่ยมและใบจะร่วงหลังจากรอยดำปรากฏขึ้นเพียงไม่กี่วัน




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น